ที่มาความเชื่อเรื่อง “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ของผม

คำว่า เรียนรู้ตลอดชีวิต คำนี้ผมได้ยินมา ภายหลังแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ผมมีความคิดคล้ายๆ แบบนี้มาก่อนอีก
สาเหตุมาจากที่ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบ ปริญญาตรี ใหม่ๆ แต่ยังมีอารมณ์อินมากๆ กับการศึกษาอยู่ เพราะผมรู้สึกว่า บางครั้งการตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อสอบ มันไม่แฟร์ และมันไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ของตัวเองจริงๆ เช่น เราต้องทำภารกิจอะไรสักอย่าง เพื่อทำข้อสอบให้ได้คะแนนให้ได้ กับ เราเรียน ศึกษา เข้าใจจริงๆ มานานตลอดทั้งเทอม และรู้วิธีนำไปใช้และแก้ไขปัญหาได้จริงๆด้วย

ไอ้แบบหลังเนี่ย ผมผ่านมาด้วยตัวเอง แต่เป็นวิชาหรือความรู้ด้านอื่นๆ ผมรู้สึกว่ามันยั่งยืน (sustain) กว่า มันจำได้ยาวนาน มันเข้าใจสิ่งต่างๆ จริงๆ
และนำไปใช้แก้ไขปัญหาชีวิต หรือแม้แต่ช่วยเหลือคนอื่นด้วย ซึ่งมันทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมาก ดังนั้นช่วงที่เรียนจบ ก็อาจจะมีความรู้สึก "แปลกๆ" อยู่บ้าง รู้สึกไม่ค่อยพอใจแนวทางการศึกษา ที่เรามุ่งมั่นจะทำข้อสอบให้ได้ มากกว่าวัดว่าเราเชี่ยวชาญสิ่งนั้นจริงๆ มั้ย เหมือนการสอบ lab ต่างๆของ IT Certification ในสมัยนี้นั่นแหละ
ผมจึงเริ่มมองเห็นความแตกต่างตรงนี้ว่า ในระยะยาว เราจะต้องเข้าใจเรื่องต่างๆ จริงๆ แบบรู้สึกได้จริงๆ ว่ามันคืออะไร
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ต้องไปสนใจคนอื่น "มากนัก" ว่าเขาจะ มาวัดหรือติดตามอะไรเรานักหนา เพราะสุดท้ายทุกคนก็สนใจแต่ตัวเอง

คำว่า "เรียนจบ" สำหรับผม มันเลยทำให้ผมรู้สึกแปลกๆ เพราะจริงๆ มีหลายๆเรื่องที่ผมก็ยังไม่รู้เรื่องเลย แต่ใช้คำว่าเรียนจบแล้ว และทำให้ผมมารู้ทีหลัง ว่าคำนี้เป็นคำที่อันตราย

ระหว่างเริ่มต้นหางาน ผมก็ทำการไปอบรมบ้าง ไปเติมความรู้เพิ่มเติม ให้พร้อมที่จะทำงานให้มากที่สุด แต่ก็จะไม่ใช้เงินมากนัก เพราะเราเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ หรือพูดง่ายๆ ไปหาที่อบรม ฟรีๆ นั่นแหละครับ ผมก็ไปอบรมเกี่ยวกับ การเข้าสาย LAN การทำงานกับระบบสาย UTP ของบริษัทขายสายเจ้านึง เข้าใจว่าทุกวันนี้เขาก็ยังเปิดอบรมอยู่นะครับ ใครอยากไปก็ลองไปค้นหาดูได้
วันที่ผมเข้าไปอบรม มันก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรในเนื้อหา ประเด็นมันอยู่ที่ "เพื่อนสมาชิก" ที่เข้ามาอบรมด้วย ซึ่งมีหลายวัยมากๆ ทั้งจบมาไม่นาน เหมือนผม เพิ่งมาทำงาน และทำงานมานาน มากๆ หลายปีแล้ว และเราก็ได้แลกเปลี่ยนกันนิดๆหน่อยๆ เค้าชื่อพี่สันต์ เป็นช่างไฟฟ้าวัยเกือบๆกลางคน และทำให้ผมรู้สึกแตกต่างออกไป

ผม : พี่ทำงานเกี่ยวกับพวกสายเหรอครับ
พี่สันต์ : ใช่ ทำพวกเดินสายแรงต่ำ แล้วก็เข้าตู่ รับเหมาทั่วไป แถวแปดริ้ว เลยไปเรื่อยแล้วแต่บ้าน โรงงาน
(เข้าตู้หมายถึง เอาของอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้า เบรคเกอร์ต่างๆ มาเข้าตู้ MDB ในตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้ ก็เออๆออๆไป)
พี่สันต์เองแกก็เป็นคนชอบคุยไปเรื่อย ตามประสาคนต่างจังหวัดด้วยครับ ผมเองก็ได้ฟังเรื่องของแกนิดหน่อย


ผม : แล้วพี่มานานหรือยังครับ
พี่สันต์ : ประมาณ 22-23 ปี
พี่สันต์ : (ผมยังไม่ได้ถามต่อ แต่พี่สันต์เค้าก็พูดต่อเลย) มาหาความรู้เพิ่มครับ จะได้รับงานเดินแลน ทำระบบกล้องอะไรได้ด้วย (ยิ้ม)
ผม : ครับพี่


-- แล้วพี่สันต์ แกก็ทำสาย ทำนู่นทำนี่ ตามขั้นตอนที่เขาสอนในสถานที่อบรม อย่างคล่องแคล่ว นั่นเพราะพี่เขาเองก็มีประสบการณ์การทำงานในทางติดตั้งระบบไฟฟ้ามานานแล้วนั่นเอง จะมีก็แต่บางกิจกรรมที่แกยังไม่คล่อง หรืออาจจะสายตาไม่ดี เช่น ตอนที่แหย่สายเข้า Loadbar ของสาย UTP CAT6 ที่รูมันเล็กมาก คนอายุมากๆ ก็อาจจะไม่ค่อยถนัด

คำพูดของพี่สันต์ที่เค้าเล่าให้ผมฟัง
มันเป็นคำพูดที่เรียบง่าย แค่นั้นเลยจริงๆ แล้วตอนนั้นคือแบบ พี่สันต์เค้าทำงานมานานมากแล้วหลัก 20 ปี คือถ้ามองคนภายนอก ก็ไม่จำเป็นต้องมาเสียเวลาเรียนอะไรก็ได้ สังคมอาจจะคิดแบบนั้นใช่มั้ยครับ

แต่ถ้าฟังจากที่เค้าพูดและจากที่รูปร่างหน้าตาเค้า ก็ดูออก ว่าไม่เด็กแล้ว พี่เค้ายังเรียนรู้อยู่เลย มันทำให้ผมปิ๊งเลย กับคำว่า "เรียนจบ" มันเป็นคำที่อันตรายจริงๆ สำหรับผมในตอนนั้น และผมก็เริ่มยึดถือวิธีคิดมาตลอดจนถึงวันนี้
เพราะคนที่มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้แล้ว เขาก็ยังหาความรู้เพิ่มเติมไม่หยุด ผมก็เลยรู้สึกกับตัวเอง ที่เรียนจบมาก็ยังไม่ค่อยรู้อะไร หรือทำอะไรเป็นเท่าไหร่ (ติด F ก็หลายวิชา) เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ ต้องเรียนรู้แบบพี่สันต์เค้าบ้าง จะลึกตื้น เล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ เราก็ต้องหาความรู้เสมอๆ

หลังจากนั้นผมก็เข้าสู่วงการทำงาน สัจธรรมนี้ก็เป็นจริง ผมได้เจอแนวคิดที่ดี และหลายๆคน ที่ยังพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ อยู่บ่อยครั้ง เพราะชีวิตคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ
ใครไม่เรียนรู้ ใครไม่ปรับตัว ผมว่ามันอันตรายมากๆ
สมัยก่อนเราไม่รู้เรื่องการเงิน เราก็เจ็บกับเรื่องการเงิน
เราไม่รู้เรื่องสุขภาพ ไม่ดูแลสุขภาพ เราก็เจ็บป่วย
การเรียนรู้มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ต้องรีบเอากลับคืนมา ชีวิตเรามีครั้งเดียว
อย่างน้อยก็ตั้งเป้าหมายง่ายๆ ให้ตัวเอง คือ เราจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างน้อย วันละ 1 เรื่องทุกวัน แบบนี้น่าจะดี
ข้อคิดนี้ผมได้มาจาก หมอแทน นายแพทย์ ธนีย์ เป็นหมอที่ผมชอบฟังเค้าพูดมาก เพราะเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดเวลา และก็เป็นคนมีบุคลิค คำพูดที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง สมเป็นอาจารย์แพทย์เป็นอย่างมาก

ทิ้งท้าย blog นี้ผมก็แค่อยากบอก ว่า
- ผมจะเปิดรับสิ่งต่างๆ เสมอ ความผิดพลาด ความไม่รู้อะไรต่างๆ ผมพร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ
- ผมจะสงสัยสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ และผมก็อยากให้ลูกๆ ของผมสงสัยเหมือนกับผมเช่นกัน

การเรียนรู้นั้นสนุกมาก ถ้าเรามีมุมมองที่ดีกับมัน
ถ้าเราได้เรียน และเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วได้ "แบ่งปัน" เราก็จะยิ่งมีความเข้าใจลึกซึ้งที่ยาวนาน ติดตัวเรา ต่อยอดไปเรื่องต่างๆ ได้มากมายครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *